ว่าด้วยเรื่องวินัยของมุนษย์ฟรีแลนซ์ (ตอนที่ 2)

จากที่เราได้พูดไปแล้วว่าสุขภาพนั้นสำคัญแค่ไหนสำหรับมนุษย์ที่เลือกทางเดือนชีวิตมาสายฟรีแลนซ์ ถ้าหากว่าสุขภาพไม่ดี ป่วยบ่อยๆ หรือว่า ดูแลตัวเองได้ไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากสุขภาพจะแย่แล้ว ยังไปทำงานไม่ได้อีกด้วยนะ พอไม่มีงานเราก็จะมีความลำบากเล็กน้อยและต้องมีการพึ่งบุญเก่าบ้าง มนุษย์ไร้ซึ่งเงินเดือนประจำอย่างเราๆ ก็ต้องรักษาสุขภาพกายและใจให้ดีที่สุดเนอะ

ถัดมา ก็ต้องมีวินัยในเรื่องของงาน และ การเงินอีกด้วยนะคะ วันนี้ เราจะมาเน้นเรื่องการงานกัน ซึ่งถือว่าตอนนี้เราอินมาก เพราะว่าต้องบินมาเรียนคอร์สเกี่ยวกับการสอนบัลเล่ต์โดยตรงที่สิงคโปร์​ (ตอนนี้พิมพ์อยู่ เรานั่งอยู่ในสนามบิน Changi กำลังจะกลับไทย)

สาเหตุที่เรายกให้เรื่องงานมาเป็นอันดับสองต่อจากสุขภาพก็อย่างที่บอกไปนั่นหละค่ะ เราถือว่าถ้าเรามีสุขภาพกายและใจที่ดี เราก็จะมีแรงไปทำงานได้และมีความสุขกับการทำงาน ทำให้คนที่ทำงานร่วมกับเรา หรือถ้าเป็นเคสของเราก็คือ นักเรียนก็จะได้มีความสุขเวลาเรียนไปด้วย เพราะ ถ้าเราอารมณ์เสีย เหมือนคนประจำเดือนมาตลอดเวลาก็คงไม่ไหวเนอะ 😛

การที่เราออกมาทำงานเป็นมนุษย์ฟรีแลนซ์แบบนี้ ทำให้เราต้องมีวินัยมากขึ้นกว่าเดิม เพราะว่า ถ้าเราทำงานออกมาไม่ดี ลาบ่อย ป่วยบ่อย ส่งงานไม่ทันเวลา หรือ ไปสายเป็นงานอดิเรก คนที่จ้างเราก็คงจะไม่ปลื้มเป็นแน่ และอาจจะมีการบอกต่อในวงการทำให้ branding ของตัวเราเองเสียอีกด้วย เราบอกกับเพื่อนเราเสมอว่า ผลงานของฟรีแลนซ์แต่ละคนก็ถือเป็น branding ของคนๆนั้น เวลาเรียน marketing ตัวแบรนด์หรือยี่ห้อหนึ่งๆ มันจะมีสิ่งที่เรียกว่า brand association ก็คือ สิ่งที่คนจะนึกถึงเวลามีคนพูดถึงชื่อแบรนด์นั้นๆ เช่น Starbucks เราก็จะนึกถึงกาแฟโลโก้สีเขียวที่มีความพรีเมี่ยมรวมไปถึงกลิ่นหอมของกาแฟในร้านและเสียงเพลงเบาๆที่เปิดในร้าน ซึ่งตามหลักแล้ว เวลาพอมีคนพูดถึงเรา เราก็คงไม่อยากให้คนมองว่า อ๋อ คนที่มาสายบ่อยๆอะหรอ สอนท่าเต้นเด็กผิด เทคนิคไม่ดี ถูกมั๊ยคะ 🙂

โดยมากสิ่งที่เราทำเพื่อที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเองให้คนนึกถึงเราในทางที่ดี และอยากจะแนะนำเราให้กับคนอื่นๆ อันดับแรกคือ

เราจะต้องไม่ไปสายค่ะ

กรุงเทพเป็นเมืองที่โค-ตะ-ระ ติด ติด ติด มากกกกก​ (ก.ไก่ล้านตัว) ดังนั้น ถ้าเรารู้อยู่แล้วเราจะต้องเผื่อเวลาออกจากบ้านค่ะ ไม่ใช่ว่าไปถึงสาย วันละ 5 นาที 10 นาที แล้วบอกกับเจ้าของโรงเรียนบัลเล่ต์ว่า

“ขอโทษค่ะ รถติด”

แบบนี้ไม่ได้ค่ะ (นอกจากว่ามีอุบัติเหตุ หรือ รถติดวินาศสันตะโรแบบ 4-5 ชม. ที่เคยติดช่วงปีที่แล้วก็อีกเรื่องนึง) ถ้าเรารู้อยู่แก่ใจว่ากรุงเทพนั้นคู่กับการรถติด by default แล้วนั้น…คำว่า “ขอโทษค่ะ รถติด” นั้นถือว่าแก้ตัวไม่ขึ้นนะคะ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเผื่อเวลาออกจากบ้านค่ะ

การไปถึงเวลาพอดีเป๊ะ นั้นถือว่าโอเค ไม่แย่ แต่อาจจะมีการล่กได้ เพราะการที่เราเป็นครูสอนบัลเล่ต์ไปถึงต้องมีการเปลี่ยนชุด ทำผม ใส่ร้องเท้า เข้าห้องน้ำซะให้เรียบร้อยก่อนที่จะเข้าสอน ไม่ใช่ว่าล่กๆมา ไม่ใส่รองเท้าบัลเล่ต์ ผมเผ้ากระเซอะกระเซิง ดูลนๆ หน้าเหวอๆ ก็ดูไม่ดีในสายตาผู้ปกครอง (+หน้าดูไม่สวยด้วย) 

อีกอย่างอย่างเราที่เป็นครูก็ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับนักเรียน ไม่งั้นเดี๋ยวจะเจอนักเรียนตัวแสบบางนางย้อนกลับว่า “ทีคุณครูยังทำได้เลย” อายเด็กน้าา ไม่เอาคะ ไม่เอา No ค่ะ นอกจากนี้คำพูดที่พูดออกไป ก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อนพูดนะคะ พูดจาไม่เพราะ หรือ เผลอหลุดอะไรออกไปโดยที่เราไม่ทันได้คิดก็อาจจะงานเข้าได้เช่นเดียวกัน (เป็นครูนี่ไม่ง่ายเลยจริงๆ 😅) 
ถัดมาก็ต้องอยู่ที่ การสอน ของเราค่ะ ในนี้เราคงจะไม่บอกว่าต้องสอนอะไรยังไงบ้างเนอะ เพราะมันมีศัพท์เฉพาะมากมาย เราจะมาพูดถึงการเตรียมตัวค่ะ การสอนบัลเล่ต์ไม่ว่าจะเป็นของระบบใดก็ตาม อังกฤษ อเมริกัน หรือ รัสเชี่ยน แต่ละเกรด หรือ ระดับชั้น ก็จะมีท่า set กำหนดมาค่ะ มันเป็นสิ่งที่เราเคยเรียนมาก็จริง แต่ถ้าเราไม่คอยทวนท่าไว้ตลอด เราก็จะลืมค่ะ  เพราะว่าความทรงจำของเราในเรื่องต่างๆ ถ้าเราไม่ค่อย ทบทวนอยู่เรื่อยมันก็จะค่อยๆลืมไปค่ะ เหมือนคนที่เล่นกล้ามเป็นประจำ พอไม่ได้ยกเวทนานๆ หรือ หยุดเล่นกล้ามก็จะฟีบนั่นแหละค่ะ ความทรงจำของคนเราก็จะเป็นประมาณนี้ 👍

เป็นครูต้องเข้าใจ จำ และเต้นทุกท่าที่อยู่ในหนังสือให้ได้ 🤓

จริงๆแล้ว คุณครูจะมีหนังสือ syllabus ที่บอกว่าท่า set ต่างๆประกอบไปด้วยท่าอะไรบ้าง แต่เราจะมายืนอ่านหนังสือแล้วบอกท่าให้เด็กๆ เต้นตามไม่ได้ค่ะ เพราะ 3 ข้อหลักๆ

ข้อที่ 1 เด็กจะเบื่อ

ยิ่งกับเด็กเล็กๆนี่ไม่ได้เลยนะคะ เราต้องทำให้คลาสสนุก ไม่เบื่อ และก็ต้องสอนเรื่องเทคนิคการเต้นที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ อีกอย่างคือถ้าเราก้มอ่านหนังสือเพื่อดูท่าสำหรับสอนแล้ว Ballerina น้อยในชุดชมพูของคุณครูก็จะกลายร่างเป็นลิงใส่ชุดบัลเล่ต์แทนค่ะ 🐵 ต้องจับลิงให้เข้าที่อีก (ครูก็จะได้ไม่เหนื่อย)

ข้อที่  2 ผู้ปกครองไม่เชื่อใจ

การที่ผู้ปกครองส่งลูกมาเรียนบัลเล่ต์ที่โรงเรียน เค้าก็ต้องมั่นใจระดับนึงว่าโรงเรียนนี้ดี คุณครูเก่ง แต่ลองนึกภาพสิคะ ครูยืนอ่านหนังสือสอนเต้นบ่งบอกอะไรได้เยอะนะคะ ในเรื่องของ professionalism และ อาจจะถูกมองว่าไม่ใส่ใจลูกเค้าด้วยนะ เพราะถ้าเด็กวิ่งเล่นกันเองแล้วล้มในระหว่างที่เราก้มอ่านหนังสือเพื่อดูว่า เอ๊ะท่านี้ไม่เต้นยังไงนะ  ก็จะดูแย่ไปอีก ถือว่าเราละเลยไม่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของเด็กไปอีกด้วยค่ะ

ข้อที่ 3 บอสไม่ปลื้ม

อันนี้เปรียบเทียบได้กับเวลาคน present งานแล้วยืนอ่าน slide นั่นแหละค่ะ ถ้าเราเตรียมมาสอนจริงๆ เราต้องรู้ว่าเราจะให้เด็กๆทำอะไร ไม่ใช่ว่ามายืนอ่านท่าให้เด็กฟัง แบบนี้เจ้าของ รร. สอนเองเค้าอาจจะ happy กว่านะเอ้อ…

ดังนั้นถ้าเราเจอท่าที่เราจำไม่ได้ เราต้องเตรียมตัวค่ะ ดู video อ่านหนังสือเพื่อเก็บรายละเอียดไปให้พร้อมก่อนสอน ไม่งั้น branding เราจะเสียเอาซะง่ายๆเด้ออ 

เราพูดถึงเรื่องก่อนสอน ตอนสอนไปแล้ว สุดท้ายเราจะพูดถึงเรื่องสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียนกันบ้างเนอะ เราเองจะค่อนข้างระวังการใช้ social media มากๆ เราจะไม่รับ add นักเรียนเลยเพราะเราถือเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา และ เราอยากให้นักเรียนรู้จักเราในฐานะ ครู เท่านั้น ไม่งั้นถ้าหากนักเรียนมาเห็นใน FB หรือ Instagram ว่าเราไปไหนมาไหนตลอดเวลา มีการไปสังสรรค์เจอเพื่อนบ้าง หรือ การคอมเม้นต์ระหว่างเรากับเพื่อนๆ ของเราที่เฮฮาตามประสาคนวัยเดียวกัน ที่อาจจะไม่ได้พูดเพราะสักเท่าไหร่ บวกกับเราไม่อยากเป็นข้ออ้างให้กับเด็กเพื่อเอาไปเลียนแบบแล้วโดนคุณพ่อคุณแม่ถามว่า “ไปเอาพฤติกรรม หรือ นิสัยแบบนี้มาจากไหน?!” แล้วสุดท้ายเด็กตอบว่า…”ทีคุณครูยังทำแบบนี้เลย” ที่นี้งานเข้าเต็มๆเลยนะคะท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย 😨 ไม่งั้นเค้าจะมีประโยคที่เปรียบเปรยว่า “ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ” ไว้ทำไมล่ะคะ  อีกอย่างก็คือ พอเวลาเด็กรู้สึกว่ารู้จักเรามากขึ้นจากการมาส่อง social media ของเรา ความเกรงใจซึ่งกันและกันมันจะน้อยลงนะคะ สอนกันยากไปอีก! 

ดังนั้น ส่วนตัวของเราเองแล้ว *ย้ำว่าส่วนตัว* เราจะไม่รับแอดจนกว่าเด็กคนนั้นจะเรียนจบไปแล้ว เพื่อที่จะ keep in touch เท่านั้นเอง เหมือนว่าเราจะหัวโบราณนะ แต่เราเองก็อยากจะมี space ของเราด้วยนั่นเอง และ เป็นการ protect ความผิดพลาดต่างๆ ที่ได้บอกไปนั่นแหละค่ะ

อาย 😶

ดังนั้น การที่คนๆนึง เต้นสวย เต้นเก่ง ถือว่าไม่พอสำหรับการเป็นครูสอนบัลเล่ต์ค่ะ ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง นักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียนที่สอนอยู่ด้วยเนอะ เราคิดว่าไอเดียนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้สำหรับทุกอาชีพเลยน้า

เราขอพอแค่นี้ก่อนสำหรับเรื่องของ วินัยในการทำงาน อันถัดไปจะน่าสนใจมากเพราะเราจะมาพูดถือเรื่องวินัยของการใช้เงิน 💰💵💸 สำหรับมนุษย์ฟรีแลนซ์กันเด้ออออ 😀

Leave a comment