Introduction: เรื่องราวทั้งหมดมันเป็นอย่างนี้ล่ะค่ะ (ภาคถัดมา)

 

thingsthatmatter_2ndintro

เมื่อออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ที่เราไม่ได้มีตำแหน่งเหมือนเมื่อเดือนที่ผ่านมา เราก็จะได้รับคำถามมากมายไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่ น้อง หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้คุยกันมาเป็นเวลานาน

คำถามภาคบังคับจากคนหมู่มากก็คือ:

“ทำไมถึงออกล่ะ?” และ “แล้วจะทำอะไรต่อ?”

ขออนุญาตตอบคำถามทีละคำถามค่ะ

“ทำไมถึงออกล่ะ?”

เราอยากจะทำงานที่ตัวเองรักจริงๆ ดังนั้น การที่เราจะต้องไปทำงานแล้วเอาเวลาไปทุ่มให้กับองค์กร โดยที่เวลาส่วนตัวของเราหายไป สุขภาพกายและใจของเราก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ สำหรับเราเอง เมื่อเอาสิ่งนี้มา คิด วิเคราะห์ แยกแยะ แล้วมันไม่คุ้มกัน บวกกับเราได้เริ่มเส้นทางของการสอนบัลเล่ต์นี้ตั้งแต่เป็นครูผู้ช่วย ได้เงินค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นเงินเก็บไปซื้อของฟุ่มเฟือยที่เราอยากได้โดยไม่ต้องรบกวนคุณพ่อคุณแม่มาตั้งแต่ม.ปลาย จนมาถึงวันที่เงินของการสอนมันเริ่มที่จะมากพอจนทำให้เราอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนและเราก็รักในอาชีพจริงๆ บวกกับการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนอยู่หลายเดือน ความคิดและแพลนต่างๆ ก็เลยตกผลึกออกมาอย่างคร่าวๆ ว่าเราอยากจะทำอะไร จนในที่สุด จึงได้ตัดสินใจเอาตัวออกมาจาก corporate life เพื่อที่จะออกมาทำสิ่งที่อยากทำได้อย่างเต็มที่หลังจากแบ่งรับแบ่งสู้มาสักพักใหญ่ๆ

สำหรับคนที่อ่านมาจนถึงตอนนี้ เราจะแจกแจงก่อนนะคะว่า เราไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนออกจากงานประจำเพื่อมาเป็นฟรีแลนซ์อย่างเรานะจ๊ะ

เหรียญมีสองด้านฉันใด อาชีพฟรีแลนซ์ก็มีสองด้านฉันนั้น

เอาเรื่องหลักๆก่อน ข้อดี คือ เราตื่นมาแล้วก็อยากจะไปทำงาน สุขภาพกลับมาดีเหมือนเดิม และสภาพจิตใจดีขึ้นมากๆ ความขี้กังวลต่างๆหายไป ไม่ต้องฝ่ารถติดวันละหลายๆชั่วโมง เพื่อที่จะไปนั่งอยู่ในออฟฟิศหนาวๆ เอ้า…ก็ดีนี่นา มีแต่คนมาแซวว่า “ออกจากที่นี่ไปแล้ว ดูแจ่มใส ชีวิตดี”

หยุดความคิดนั้นก่อนค่ะคุณๆทั้งหลายคะ

ข้อเสียของฟรีแลนซ์ก็คือ ความไม่แน่นอนของรายได้ ไร้ซึ่งสวัสดิการ ถ้าป่วยหรือหยุดงาน ก็หมายถึงรายได้วันนั้นของคุณก็จะหายไปด้วยเช่นกัน หรือถ้าวันนึงคนที่จ้างเราตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับเรา แปลว่ารายได้ของเราจะหายไปในทันที และถ้าอยากจะลาหยุดไปเที่ยว นอกจากจะไม่มีรายได้ตามจำนวนวันที่ไปเที่ยวแล้ว แกยังต้องเสียเงินค่าไปเที่ยวอีกนะ!

ซึ่งทำให้เราต้องมาตอบคำถามภาคบังคับหลังจากการออกจากงานอันถัดมา

“แล้วจะทำอะไรต่อ?”

แน่นอนว่าเราตอบคนอื่นว่าเราไปสอนบัลเล่ต์ และจะไปเรียนเพื่อเอา ballet teaching certificate ที่รับรองจากอังกฤษ  หลังจากที่หาข้ออ้างให้กับตัวเองมาตลอดว่า ไม่มีเวลา งานยุ่งมากๆ มาเป็นระยะเวลาหลายปี นี่ก็ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะได้เริ่มทำอะไรที่ตัวเองอยากจะทำสักที ความตั้งใจของการเรียนนี้ก็เพื่อที่จะเป็นใบเบิกทางให้กับอาชีพใหม่ของเราเนี่ยแหละ และเราก็ตั้งใจไว้ว่าเราจะจ่ายเงินค่าเรียนเองทั้งหมด!

เอาล่ะสิ ตอบคนอื่นตอบอะไรก็ได้ไง แต่ตอนนี้เธอช่วยตอบตัวเองด้วยว่าเธอจะหาเงินมาจ่ายยังไง????

ค่าเรียนแพงไปอีก! โชคดีที่เป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่งๆ (workaholic สามารถใช้ได้กับคนทุกอาชีพนะคะ) เราก็มีโอกาสได้ไปทำงานเป็นพนักงาน part-time ให้กับองค์กรเพื่อการศึกษาอยู่สักพักนึง เพราะว่าการที่เราจะหางานสอนเพิ่มในระยะเวลาอันสั้น มันก็ไม่ได้ง่ายเลย  ระหว่างนั้นเราก็ร่อน resume หรือ CV เพื่อสอนบัลเล่ต์ตามโรงเรียนนานาชาติต่างๆไว้เพียบ น่าจะ 30 โรงเรียนได้ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนได้การตอบรับว่า มีครูอยู่แล้ว อีเมลอัตโนมัติว่าได้รับ resume แล้ว และ ไม่ได้การตอบอะไรเลย

จิตตกเบาๆ

แล้ว “เรา” จะทำอะไรต่อไป? เพื่อที่จะไม่ต้องขอเงินคุณพ่อคุณแม่มาเรียนอีก จนวันนึง ก็มี 1 โรงเรียนติดต่อมาว่า เราเห็น resume ของคุณแล้ว profile น่าสนใจมาก แต่ตอนนี้เรามีครูบัลเล่ต์ที่มาสอนนักเรียนของเราเป็นประจำอยู่แล้ว คุณสนใจที่จะมาทำmarketingให้โรงเรียนเรามั๊ยล่ะ? เพราะคุณเองก็มีประสบการณ์ด้านนี้มาพอสมควร

นั่งคิดสักพัก ก็อีเมลกลับไปว่า เรายินดีที่จะเข้าไปคุยกับคุณที่โรงเรียน เรามีข้อแม้ว่าเราขอเป็น part-time ทำงานได้แค่ 3 วันต่อสัปดาห์นะ เราก็อยากจะรู้เหมือนกันว่า อย่างเราที่ให้ข้อเสนอแบบที่คนอื่นเค้าไม่ค่อยทำกันจะมีคนยอมรับได้หรือไม่

มีค่ะ เราเข้าไปคุย ถูกสัมภาษณ์ และสัมภาษณ์เจ้านาย part-time ในอนาคต ดูสภาพแวดล้อมและทัศนคติของเจ้าของโรงเรียนซึ่งมันไปกันได้ เราใช้เวลาไม่นานที่จะตอบตกลงเพื่อเริ่มงานนี้

ถึงตอนนั้นเรามีงานทำ 5 วันต่อสัปดาห์แล้ว แต่วันหยุดที่มีที่คนอื่นเค้าเรียกกันว่าวันหยุดสุดสัปดาห์ คือวันทำงานของเรา แล้วเราก็มาหยุดวันธรรมดาแทน แต่พอระยะเวลาเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เราก็ไม่หยุดที่จะมองหาโอกาส ใครที่เปิดโรงเรียนสอนเต้น เราจะเข้าไปถามทันทีว่าต้องการครูมาสอนที่โรงเรียนอีกแรงมั๊ย เราก็เลยได้งานสอนมาเพิ่มอีกหนึ่งวัน บวกกับมีการ request จากผู้ปกครองที่เราสอนประจำทุกวันอาทิตย์ว่าอยากจะให้ลูกเรียนเพิ่มอีกหนึ่งวัน เราก็จัดให้

สรุป…เรามีงานสอน 4 วัน ทำ marketing อีก 3 วัน ครบ 7 วัน! ข้อแตกต่างก็คือ เรามีเวลาให้ตัวเองมากกว่าตอนที่ทำงานบริษัท เพราะ งานสอนที่เพิ่มมาอีกสอนวันนั้น เราทำแค่ช่วงเย็น แปลว่าเราตื่นสายได้ ไปเดินห้างได้ในวันธรรมดาที่ไม่ต้องเบียดเสียดกับใคร และมีรายได้เข้ากระเป๋าทุกวันและสามารถแบ่งเป็นเงินเก็บเพื่อเป็นค่าเรียน ballet teaching certificate ได้

สำหรับผู้ที่อ่านมาถึงตอนนี้ เราอยากจะบอกว่า โอกาสมักจะมาหาเราตอนที่เราไม่ได้ตั้งตัวอยู่บ่อยครั้ง เหมือนกับที่อยู่เราได้งาน marketing มาแบบไม่ได้ตั้งตัว แต่เราเองก็ต้องเป็นฝ่ายที่จะมองหาโอกาสเหล่านั้นด้วย ถ้าหากว่าเราอยากจะลองเริ่มอะไรใหม่ๆ เราสามารถเริ่มได้เลยด้วยตัวเราเอง เพราะ ถ้าหากเรามัวแต่ติดอยู่กับความคิด กังวลว่าทำไปแล้วอะไรๆจะไม่เป็นไปตามคาด แต่การเริ่มจะทำให้โอกาสของเราไม่เป็น 0% อีกต่อไป

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการออกมาทำสิ่งที่เรารักอยู่เป็นระยะเวลาปีกว่าๆแล้วก็คือ ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราต้องพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้เสมอ แผนต่างๆ ที่เราวางไว้อย่างดีอาจจะไม่ได้ดำเนินไปตามที่เราคาดเอาไว้ แต่การที่แผนมันถูกเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ ถือเป็นบทเรียนที่ดีมากๆ สำหรับเรา และสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเลือกที่จะออกมาทำในสิ่งที่เรารัก ก็คือ วินัยในตนเอง ซึ่ง…

เราจะมาเล่าให้ฟังอีกในโพสต์ถัดไปค่ะ  : )

 

 

Leave a comment